การอนุรักษ์น้ำด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
รายละเอียด : การอนุรักษ์น้ำด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
1.การป้องกันและแก้ไขการรั่วไหล
การรั่วไหลและการสูญเสียเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการจัดการน้ำ ทางด้านการใช้น้ำในครัวเรือน ธุรกิจและอุตสาหกรรม การสูญเสียรั่วไหลที่พบมากที่สุด ได้แก่ จุดจ่ายน้ำหรือหัวก๊อกจ่ายน้ำ บริเวณเส้นทางส่งน้ำที่ข้อต่อ ข้องอ ถังเก็บน้ำของสุขภัณฑ์ ในการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี นับแต่การสังเกตรอยซึมของน้ำ กำลังของน้ำที่ลดลง เสียงน้ำที่หยดไหลริน
สาเหตุของการรั่วไหล อาจเกิดจากการติดตั้ง การเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งาน การเสื่อมของอุปกรณ์ส่งและจ่ายน้ำ การเสื่อมของยางที่ป้องกันการรั่วซึม การปิดไม่สนิมจากการใช้งาน รวมทั้งการสูญเสีย จากการเปิดก๊อกน้ำในขณะที่น้ำไม่ไหลและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ปิด ฯลฯ
จากสาเหตุที่แตกต่างกันเองการรั่วไหลของน้ำข้างต้น การป้องกันมิให้มีการรั่วไหลของน้ำเลย จึงอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน แต่การป้องกันให้มีการรั่วไหลน้อยที่สุดอาจทำได้โดยการจัดให้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่สิ้นเปลือง
การสูญเสียน้ำ นอกจากจะเกิดจากการสูญเสียรั่วไหลโดยไม่ตั้งใจแล้ว ยังเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้น้ำที่มากเกินความจำเป็นในการทำกิจกรรมต่างๆ พฤติกรรมการใช้น้ำเกิดจากความเข้าใจและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น เข้าใจว่าการสูญเสียในช่วงเวลาสั้นๆ จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือการไหลของน้ำในช่วงสั้นๆ จะเกิดการเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมากมาย เหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อดังกล่าวคือ ค่าน้ำถูก หรือผู้ใช้ไม่ได้เป็นผู้ชำระค่าน้ำเอง เช่น กรณีการใช้น้ำในหน่วยงาน สถานบริการ หรือในการผลิตของอุตสาหกรรม การขาดการเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการใช้น้ำที่มีการสูญเสีย กับผลเสียทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรและระบบนิเวศ ทำให้มีการใช้โดยไม่ระวัง
พฤติกรรมการใช้น้ำที่มีการสูญเสียน้ำมาก ได้แก่
• การแปรงฟัน ที่ปล่อยให้มีการไหลของน้ำตลอดเวลา (27 ลิตร)
• การล้างหน้าที่เปิดน้ำอย่างต่อเนื่อง (18 ลิตร)
• การโกนหนวด โดยการเปิดน้ำไหลตลอดเวลา (18 ลิตร)
• การล้างจาน โดยปล่อยน้ำให้ไหลล้นอย่างต่อเนื่อง (90 ลิตร)
• การซักผ้า ที่ปล่อยให้มีการไหลของน้ำตลอดเวลา (180 ลิตร)
• การอาบน้ำจากหัวจ่ายน้ำที่เปิดทิ้งไว้ (90 ลิตร)
• การล้างรถจากปลายสายยางที่จ่ายน้ำโดยไม่ปิด (5 ลิตร)
• การรดน้ำสนามหญ้าด้วยลายยางปลายเปิด (5 ลิตร)
3.การเลือกใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำ
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้มีการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นพฤติกรรมการใช้น้ำที่ยากต่อการแก้ไข คือ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้สายยางที่ไม่สามารถควบคุมการไหลของน้ำในการรดน้ำต้นไม้ ทำให้ควบคุมการปิด-เปิดลำบาก หรือการใช้ก๊อกน้ำที่ไม่มี่อุปกรณ์เติมอากาศทำให้ต้องใช้น้ำในการล้างมือมากกว่าปกติ หรือการใช้ก็อกน้ำหัวเกลียวที่ยากต่อการปิด-เปิด ฯลฯ ทำให้มีการใช้น้ำในปริมาณมาก ดังนั้น การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยี พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการลดการรั่วไหลของน้ำ
การอนุรักษ์น้ำด้วยการลดการปนเปื้อนของน้ำ
การใช้น้ำในภาวะการขาดแคลนน้ำ ผู้ใช้น้ำนอกจากจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการลดปริมาณการใช้น้ำด้วยการใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และยังต้องป้องกันมิให้น้ำใช้มีการปนเปื้อนโดยไม่จำเป็น โดยการลดและหลีกเหลี่ยงการใช้น้ำเป็นที่รองรับสิ่งปฏิกูลทุกชนิดทั้งภายในและภายนอกพื้นที่การใช้น้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้น้ำได้มีการฟื้นตัว และทำความสะอาดด้วยวิธีการทางธรรมชาติได้อย่างดีก่อนที่จะถูกผู้ใช้น้ำรายอื่นนำไปใช้อีก การลดการปนเปื้อนอาจจะทำได้อีกหลายขั้นตอน ด้วยการจัดให้มีการแยกไขมันออกจากน้ำ การแยกตะกอนหรือสิ่งเจือปน การตกตะกอนเพื่อลดปริมาณสารแขวนลอย การลดความเป็นกรดหรือด่าง เป็นต้น เพื่อให้น้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ก่อนถูกส่งเข้าระบบบำบัดที่เหมาะสมต่อไป
การอนุรักษ์ด้วยการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน
น้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์และมีการปนเปื้อน จะต้องมีการบำบัดให้สะอาดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อมิให้ผู้ใช้น้ำรายอื่นต้องเดือดร้อนจากการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นน้ำ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการผลิตและจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
ผู้โพส : admin